หนังสือพระราชนิพนธ์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี



พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2537
ประเทศ นิวซีแลนด์ แอนตาร์กติกา ขั้วโลกใต้
กลับไปหน้าที่แล้ว

แอนตาร์กติกา : หนาวหน้าร้อน


     พระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒๖ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศนิวซีแลนด์และแอนตาร์กติกา (ขั้วโลกใต้) ระหว่างวันที่ ๑๗-๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๖      

     ประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินออกจากกรุงเทพ ฯ ไปยังเมืองโอ๊กแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ และเสด็จ ฯ ต่อไปยังเมืองไครสต์เชิร์ช เสด็จ ฯ ไปยังศูนย์แอนตาร์กติการะหว่างประเทศ ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ของศูนย์ ฯ ที่มีการจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับแอนตาร์กติกา เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แผนที่ ความเป็นอยู่ในแอนตาร์กติกาใน ๑๒ เดือน จัดแสดงพาหนะและอุปกรณ์เครื่องยังชีพที่ใช้ในแอนตาร์กติกา พืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และชีวิตความเป็นอยู่ของนักสำรวจ

     ต่อจากนั้น ประทับเครื่องบินพระที่นั่งของกองทัพอากาศนิวซีแลนด์ไปยังฐานสก็อต (Scott Base) ซึ่งอยู่ในบริเวณแอนตาร์กติกา ฐานสก็อตมีลักษณะคล้ายเมืองเมืองหนึ่ง มีเครื่องปั่นไฟใช้เอง มีเครื่องกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืด โดยสูบน้ำทะเลเข้ามาผ่านขบวนการ Reverse Osmosis ได้น้ำจืดเพียง ๕% ของปริมาณน้ำที่สูบเข้ามา และต้องมาทำความสะอาดอีกครั้ง ทอดพระเนตรห้องแลบที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับสนามแม่เหล็ก แผ่นดินไหว การวัดปริมาณโอโซนในแอนตาร์กติกา เสด็จ ฯ ทรงฝึกภาคสนาม อาทิ การเดินบนหิมะ การเดินขึ้นเขาด้วยรองเท้าติดหนาม การใช้  Ice axe

     เสด็จ ฯ ไปยังสถานีแม้กเมอร์โดของสหรัฐอเมริกา สำนักงานของมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ นักสำรวจของสหรัฐ ฯ มาปฏิบัติงานในแอนตาร์กติกาเป็นจำนวนมาก ทอดพระเนตรห้องปฏิบัติการชีววิทยา สถานีสูบน้ำทะเลมาทำให้เป็นน้ำจืด แผนก Earth Science ห้อง aquarium เสด็จ ฯ ไปยัง Arrival Height Lab ของนิวซีแลนด์ ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ อาทิ ความเร็วของลม สนามแม่เหล็ก รังสีดวงอาทิตย์ที่ลงมาถึงโลก เมฆ โอโซน เป็นต้น เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตร Discovery Hut เป็นบ้านที่กัปตันสก๊อตสร้างไว้ใน ค.ศ. ๑๙๐๑ และทอดพระเนตรห้องเลี้ยงปลาของนักวิทยาศาสตร์สหรัฐ ฯ


     เสด็จ ฯ ไปยัง Razorback Island ซึ่ง Dr Graham Barrel นักวิทยาศาสตร์มาตั้งเต็นท์ทำการศึกษาเรื่องฮอร์โมนของแมวน้ำ เสด็จ ฯ ไปยัง Cape Royds ที่ส่วนปลายเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล เรียกว่า Flagstaff Point มีบ้านของ Sir Ernest Henry Shackleton นักสำรวจขั้วโลกชาวอังกฤษ (ค.ศ. ๑๘๗๔-๑๙๒๒) ซึ่งเคยอยู่ในทีมสำรวจของสก๊อตที่เดินทางมาที่แอนตาร์กติกา และเคยนำทีมมาเอง เป็นคนกำหนดขั้วโลกใต้แม่เหล็ก (South Magnetic Pole) เมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๙

     เสด็จ ฯ ไปยัง Cape Evans ซึ่งมีบ้านของกัปตันสก๊อตอีกหลังหนึ่ง เสด็จ ฯ ไปถึงบริเวณที่มีถ้ำน้ำแข็ง ที่ Mount Erebus Glacier Tongue เป็นแท่งน้ำแข็งก้อนใหญ่ยื่นลงไปในทะเล มีถ้ำใหญ่น้อยมากมาย เกิดจากน้ำทะเลไหลกัดเซาะแท่งน้ำแข็ง เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรถ้ำน้ำแข็งที่มีแท่งน้ำแข็งงอกและย้อยเหมือนถ้ำหินปูน ทั้งถ้ำเป็นสีฟ้าสว่างใสเหมือนแก้วผลึกเจียระไน

     ต่อจากนั้น ประทับจักรยานยนต์หิมะที่เรียกว่า ski-doo เสด็จ ฯ ไปยัง “Fish hut” ของ Dr John ซึ่งเป็นกระท่อมเล็ก ๆ สร้างคร่อมบ่อปลา เพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับฮอร์โมนของปลาที่ใช้ควบคุมความเร็วการเต้นของหัวใจ ทอดพระเนตรการสาธิตการใช้ ski-doo ดึงกับดักปลาขึ้นมาจากบ่อ

     ประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง กองทัพเรือสหรัฐ ฯ จัดถวาย เสด็จ ฯ ไปยัง Dry Valley ซึ่งเป็นบริเวณที่ใหญ่ที่สุดในแอนตาร์กติกาที่แห้งเหมือนทะเลทรายซาฮารา มีหิมะปกคลุมน้อยและอากาศแห้งมาก เสด็จ ฯไปยังสถานีวิจัยใกล้ทะเลสาบแวนด้า ทรงพระดำเนินบนน้ำแข็งทะเลสาบ ทอดพระเนตรหินบริเวณนั้น ส่วนใหญ่เป็นหินภูเขาไฟประเภทต่าง ๆ และมีหินทรายบ้าง ทอดพระเนตรนกเพนกวินซึ่งอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ

     จากนั้น เสด็จ ฯ กลับฐานสก็อต และทรงพระดำเนินขึ้นเขา Observation Hill ทอดพระเนตรทิวทัศน์ของฐานสก็อต และ Mt. Erabus, Arrival Heights, Black Island, White Island เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรโบสถ์ Chapel of the Snows ทรงรับการทูลเกล้า ฯ ถวายประกาศนียบัตรเพื่อเป็นที่ระลึกว่าได้ร่วมรายการ New Zealand Antarctica Programme ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๙๓ - ๑๙๙๔